ปัจจุบันทิศทางการพัฒนาธุรกิจเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นสร้างผลกำไรและอัตราการสูงสุด แต่เมื่อสภาพการณ์เปลี่ยนไป มีปัญหาที่ท้าทายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ธุรกิจ องค์กร และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องตระหนักถึงผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ของตนให้มากขึ้น จะทำหรือใช้อะไร แล้วจะเกิดผลทางตรงและทางอ้อมอย่างไร เป็นประเด็นที่ต้องร่วมกันขบคิด
เมื่อเร็วๆ นี้ จีอี เฮลธ์แคร์ (GE Healthcare) ผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งกำลังเร่งผลักดันวิสัยทัศน์ "เฮลธ์ตี้แมจิเนชั่น" (Healthymagination) ที่มุ่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้สร้างระบบบริการสุขภาพให้เป็นบริการคุณภาพที่สามารถรองรับได้ และเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ได้จัดงาน "จีอี เฮลธ์ตี้แมจิเนชั่น เดย์" ขึ้น โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญ คือ การสัมมนาหัวข้อ "ธุรกิจสีเขียวสำหรับสังคมเพื่อสุขภาพ" เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และจุดประกายการหาทางออกของปัญหาท้าทายต่างๆ ที่สังคมไทยกำลังประสบอยู่ร่วมกัน งานนี้ได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งตัวแทนมาให้ความรู้และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มากมาย
ดร. ไพลิน ชูโชติถาวร ประธาน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวอย่างหนึ่งของภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันทะลุ 7,000 ล้านคนแล้ว ทุกคนต่างต้องการอยู่ดีกินดี มีดีมานด์ไม่จำกัด ในขณะที่ซัพพลายมีจำกัด เกิดความไม่สมดุล ปัญหาจึงเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความซับซ้อนมาก การจะแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องก้าวผ่านโมเดลธุรกิจแบบเดิมๆ ที่เน้นกำไรสูงสุด เน้นการเติบโตของตัวเลขจีดีพีโดยไม่สนใจคุณภาพชีวิต มาเป็นโมเดลธุรกิจที่เน้นความยั่งยืน กล่าวคือ ธุรกิจเติบโตได้ควบคู่กับความเป็นอยู่ที่ดีและรักษาสภาพแวดล้อม เช่น ลดการปล่อยคาร์บอนด้วยการปรับปรุงขบวนการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารก่อมะเร็ง เป็นต้น แนวคิดหลักที่อยากจะนำเสนอคือ CSR ซึ่งไม่ใช่นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมแบบผิวเผิน แต่ต้องมี Care, Share และ Respect หมายถึงความใส่ใจ แบ่งปัน และเคารพสิทธิ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งหมดต้องปฏิบัติอย่างจริงจังจนเห็นเป็นรูปธรรม เพราะองค์ประกอบเหล่านี้จะไปสนับสนุนฐานแห่งความยั่งยืน ซึ่งได้แก่ สังคม (social) สภาพแวดล้อม (ecology) และเศรษฐกิจ (economy) ซึ่งต้องสมดุลกันและหมุนไปพร้อมกันจึงจะเกิดองค์กรที่ยั่งยืนได้ เป็นที่น่ายินดีที่โมเดลนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้นจากหลายๆ ฝ่าย"
รศ.นพ.นิพิฐ พิรเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เวิลด์ เมดิคัล เซ็นเตอร์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายองค์กร บางกอก เชน ฮอสพิทัล แสดงความเห็นต่อระบบบริการสุขภาพในปัจจุบันว่า "โรงพยาบาลเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพราะอยู่ภายใต้การจัดการแบบรวมศูนย์และมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง อีกทั้งมีฐานะเป็นโรงซ่อมสุขภาพเสียที่มีความแออัดและมีการทิ้งของเสียปริมาณมาก ด้วยเหตุนี้ หากมองโรงพยาบาลเป็นหัวใจหลักของระบบสุขภาพ จะนำไปสู่หลุมดำทันที ดังนั้น ควรปรับยุทธศาสตร์ระดับชาติ รวมถึงระดับโลก โดยหันไปเน้นการสร้างสุขภาพดีควบคู่ไปกับการซ่อมสุขภาพเสีย ใช้หลักง่ายๆ คือ Lean & Clean กล่าวคือ ควรเน้นการกระจายตัวเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในเขตเมือง ขยายบริการทางการแพทย์หลักๆ ไปสู่ชุมชน ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเวลาเดินทางของผู้ป่วย ในภาพรวมภาครัฐเองต้องมีการวางผังที่เอื้อต่อการกระจายตัวของบริการสุขภาพไปยังชานเมืองมากกว่านี้ เพราะปัจจุบันภาระหนักตกอยู่ที่โรงพยาบาลในเขตเมือง นอกจากนี้ยังต้องกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อสร้างสุขภาพดีในกลุ่มคนอายุน้อยควบคู่กับซ่อมสุขภาพเสียในกลุ่มคนสูงอายุ ซึ่งจะสอดคล้องกับโครงสร้างประชากรในอนาคต"
รศ.นพ.นิพิฐ "ในภาพย่อย หากจะมีการสร้างโรงพยาบาลใหม่ควรต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งนี้ โรงพยาบาลใหม่ควรมีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไปและมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันในจุดเดียวเพื่อลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างกลุ่มอาคาร ซึ่งแต่เดิมระบบโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลเป็นปัญหามาก การวางผังที่ดีจะช่วยประหยัดทั้งแรงงานของบุคลากรและการพลังงาน นอกจากนี้ ไอซีทีก็มีบทบาทมากในการพัฒนากรีนโอเปอร์ชั่น จากเดิมโรงพยาบาลรับผู้ป่วยหนึ่งคน แต่ต้องรองรับญาติของผู้ป่วยที่มาเยี่ยมอีกนับสิบ หากกรณีไหนสามารถใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้ก็จะช่วยให้ญาติไม่จำเป็นต้องเดินทางมาเยี่ยม เป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางอ้อม อีกประเด็นหนึ่ง คือ เรื่องความสะอาด เมื่อมีคนมากๆ โรงพยาบาลก็ต้องทำความสะอาดบ่อย ที่เห็นชัดคือการทำความสะอาดพื้น มุมหนึ่งอาจมองว่าสะอาด แต่ในน้ำยาถูพื้นอาจเต็มไปด้วยสารเคมีและยาฆ่าเชื่อ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังเป็นต้นทางของขยะปริมาณมหาศาลที่เกิดจากการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงควรต้องมีมาตรการแยกขยะอย่างเป็นระบบและทำอย่างจริงจังจึงจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยสรุป สิ่งที่โรงพยาบาลควรเร่งปรับตัว คือ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ระบบอัตโนมัติต่างๆ และจัดระบบโลจิสติกส์ให้ดี สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการให้บริการสุขภาพได้"
ด้านสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นกลไกผลักดันธุรกิจสีเขียวมากขึ้น นายชาลี มาดาน ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เสนอว่า "ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น นอกจากจะเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนแล้ว ในส่วนของปัจเจกบุคคลก็ควรเข้ามาร่วมรับผิดชอบร่วมกันด้วย เพราะหากไม่ร่วมกันทำในวันนี้ อีก 30-40 ปี เราจะประสบปัญหามากมาย จะได้เห็นการอพยพหนีภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ของผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก อาหารจะไม่พอกิน ดังนั้นต้องคิดแล้วว่าวันนี้เราจะลงมือทำอะไรได้บ้าง ในส่วนของธนาคารเอง เรามีผลิตภัณฑ์และบริการในส่วนของกรีนไฟแนนซิ่งเพื่อจัดหาเงินทุนแก่ธุรกิจด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น วินด์ฟาร์ม โซล่าฟาร์ม เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เชื้อเพลิงที่ไม่ก่อมลพิษ รวมถึงธุรกิจด้านสุขภาพด้วย เพื่อให้แนวคิดธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมนำไปปฏิบัติได้จริง อย่างไรก็ตาม เห็นว่าภาครัฐต้องควรเร่งส่งเสริมและเงินอุดหนุนเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการจูงใจในการลงทุนตามปกติ และควรต้องหนุนระยะยาวกว่านี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ซึ่งมีจำนวนมากและเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ควรสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ทางธนาคารฯ เองก็สนับสนุนให้ธุรกิจต่างๆ มีแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับแผนธุรกิจ"
ในส่วนของภาครัฐ ดร. ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ในฐานะหน่วยงานที่กำหนดนโยบาย กล่าวว่า "ปัจจุบัน ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งประเทศประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการนำเข้าพลังงานถึง 9 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ คนไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่อรายได้ ราวร้อยละ 20 ต่อคน ดังนั้น วิธีแก้ไขเบื้องต้น คือ ทุกองค์กรต้องหันมาใส่ใจแล้วว่าตนใช้พลังงานในแต่ละเดือนไปเท่าไหร่ แล้วเอาไปเทียบกับรายได้ หากเกินค่าเฉลี่ยร้อยละ 20 ก็ถือว่ามากเกินความจำเป็น อย่างโรงพยาบาลเป็นตัวอย่างหนึ่งขององค์กรที่ใช้พลังงานสูงมาก เพราะเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนต้องใช้ไฟฟ้าทั้งนั้น แต่หากมีการประเมินและจัดการอย่างเป็นระบบย่อมจะลดได้ เห็นได้จากหลายโรงพยาบาลที่ได้รับรางวัล Thailand Energy Award มีการจัดการด้านพลังงานดีมาก ทางกรมฯ เองก็มีมาตรการให้ความช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีหรือเงินอุดหนุน แต่ที่สำคัญแต่ละองค์กรต้องรู้ก่อนว่าตนใช้ไปเท่าไหร่ และจะร่วมมือกันจัดการอย่างไร"
ในโลกธุรกิจยุคใหม่ "กำไรสูงสุด" คงไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป หากแต่เป็นความรับผิดชอบต่อผู้คนรอบข้าง สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะความสมดุลเท่านั้นที่จะนำพาโลกไปสู่ความยั่งยืนและปกติสุขได้ ซึ่งจีอีหวังที่จะให้วิสัยทัศน์ "เฮลธ์ตี้แมจิเนชั่น" (Healthymagination) นี้ขยายในวงกว้าง และสามารถส่งเสริมคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนด้านสุขอนามัย และการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ
ฤทัยวรรณ ศิลปาจารย์ และ ภาวัช อนุวงศ์
เวเบอร์ แชนด์วิค
โทรศัพท์ 0-2343-6000 ต่อ 067 หรือ 062
อีเมล์ [email protected] หรือ [email protected]
บรรยายภาพ
ภาพที่ 01 ตัวแทนผู้บริหารจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมสัมมนาแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ "ธุรกิจสีเขียวสำหรับสังคมเพื่อสุขภาพ" บุคคลในภาพ (จากซ้าย) ได้แก่ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน รศ.นพ. นิพิฐ พิรเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เวิลด์ เมดิคัล เซ็นเตอร์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายองค์กร บางกอก เชน ฮอสพิทัล พรเลิศ ลัธธนันท์ ประธานและซีอีโอ จีอี ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ดร.ไพลิน ชูโชติถาวร ประธาน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และ ชาลี มาดาน ประธานเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
ภาพที่ 02 พรเลิศ ลัธธนันท์ ประธานและซีอีโอ จีอี ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินการสัมมนา
ภาพที่ 03 ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน แนะมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและเงินอุดหนุนด้านการจัดการพลังงาน
ภาพที่ 04 ชาลี มาดาน ประธานเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ชูผลิตภัณฑ์และบริการส่วนกรีนไฟแนนซิ่งเพื่อจัดหาทุนแก่ธุรกิจด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ภาพที่ 05 รศ.นพ. นิพิฐ พิรเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เวิลด์ เมดิคัล เซ็นเตอร์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายองค์กร บางกอก เชน ฮอสพิทัล นำเสนอหลักการ "Learn & Clean" เน้นการกระจายตัวเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลในเขตเมือง
ภาพที่ 06 ดร.ไพลิน ชูโชติถาวร (ซ้าย) เสนอแนวคิดซีเอสอาร์ ที่ไม่เพียงมีความรับผิดชอบทางสังคม แต่ต้องมีความใส่ใจ แบ่งปัน และเคารพสิทธิ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ภาพที่ 07 บรรยากาศพูดคุยบนเวที หัวข้อ "ธุรกิจสีเขียวสำหรับสังคมเพื่อสุขภาพ"
ภาพที่ 08 ตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนร่วมฟังสัมมนา ในงาน "จีอี เฮลธ์ตี้แมจิเนชั่น เดย์"
Corporate Communications
[email protected]